กฏหมายยิงปืนป้องกันตัว

เริ่มโดย admin, กันยายน 01, 2012, 12:22:14 AM

« หน้าที่แล้ว - ต่อไป »

admin


Category: กฏหมายยิงปืนป้องกันตัว
Last Updated on Monday, 26 September 2011 18:17
Hits: 651
มีปืนแล้วยิงคนตาย แบบไม่มีความผิดเลย  ก็คือยิงเพื่อป้องกันสิทธิของตนเองหรือผู้อื่น  ให้พ้นจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  ถ้าได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุ  การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ผู้นั้นไม่มีความผิด   ตามความในประมวลกฎหมายอาญามาตรา  ๖๘  จึงขออนุญาตท่าน วมต.  ลงข้อความทางกฎหมายเพื่ออธิบายรายละเอียดของการป้องกันตัวให้สมาชิกได้ทราบเป็นความรู้ครับเพราะเป็นสิ่งสำคัญกับคนมีปืน  ที่จะต้องรู้  และนำเอาไปใช้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
  หลักเกณฑ์ของการป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมาย  ( มี ๔ ข้อ ) คือ
๑ .  มีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย
เช่น  มีคนมาปล้น  มาจะฆ่า  จะทำร้าย  เป็นต้นระวัง  หากเขามีสิทธิทำร้ายเราได้  เช่นพ่อมีสิทธิว่ากล่าว / ตีลูก   เมื่อเราทำผิดบิดามารดาลงโทษเรา /ตีเรา  ไม่ถือเป็นภยันตรายตามข้อ ๑ นี้  เราตอบโต้แล้วอ้างป้องกันไม่ได้  มีฎีกา ที่ ๔๒๙/๒๕๐๕ ว่าพระตีลูกศิษย์   ลูกศิษย์ตอบโต้  ฆ่าพระ  ไม่เป็นป้องกันกรณีเห็นเมียกำลังนอนกอดกับชายชู้  ถือเป็นภยันตรายที่มาละเมิดตามข้อ ๑ แล้วแต่ก็แยกว่า    ถ้าภริยาจดทะเบียนสมรสกับเรา   เราฆ่าชู้  เป็นป้องกัน ( ฏีกาที่๓๗๘/๒๔๗๙ )แต่ถ้าไม่ได้จดทะเบียน  ไม่เป็นป้องกัน  แต่อ้างบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๒  เพื่อให้ศาลลงโทษน้อยลงได้ ( ฎีกาที่ ๒๔๙/๒๕๑๕ )แม้จะมีภยันตรายตามข้อ ๑ แล้วก็ตาม  แต่ผู้ที่จะอ้างป้องกันได้ จะต้องไม่มีส่วนผิดในการก่อให้เกิดภยันตรายดังกล่าวขึ้นด้วย  คือ
- ไม่เป็นผู้ที่ก่อภัยขึ้นในตอนแรกเช่น ฎีกาที่ ๒๕๑๔/ ๒๕๑๙  จำเลยชกต่อยก่อน แล้ววิ่งหนี    เขาไล่ตามต่อเนื่องไม่ขาดตอน  จำเลยยิงเขาตาย   อ้างป้องกันไม่ได้
-  ไม่เป็นผู้ที่สมัครใจเข้าวิวาทกันเช่นฎีกาที่ ๒๓๒๒/๒๕๒๒  จำเลยโต้เถียงกันคนตาย   แล้วก็ท้าทายกัน สมัครใจเข้าชกต่อยต่อสู้กัน   แม้คนตายจะยิงก่อน   แล้วจำเลยยิงสวนก็อ้างป้องกันไม่ได้
-  ไม่เป็นผู้ที่ยินยอมให้ผู้อืนกระทำต่อตนโดยสมัครใจเช่น ให้เขาลองของคุณไสย์  คงกระพัน  แล้วจะไปโกรธตอบโต้ภายหลังอ้างป้องกันไม่ได้
-  ไม่เป็นผู้ที่ไปยั่วให้คนอื่นเขาโกรธก่อนเช่นไปร้องด่าพ่อแม่  ด่าหยาบคายกับเขาก่อน  พอเขาโกรธมาทำร้ายเราเราก็ตอบโต้  เราอ้างป้องกันไม่ได้
๒.  เป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง
เช่น เขากำลังจะยิงเรา  เราจึงต้องยิงสวน ฎีกาที่ ๒๒๘๕ / ๒๕๒๘  จำเลยกับคนตายคุยตกลงกันเรื่องแบ่งวัว  จำเลยชวนให้ไปคุยตกลงกันที่บ้านกำนัน   คนตายไม่ยอมไป   กลับชักปืนออกมาจากเอวจำเลยย่อมเข้าใจว่าจะยิงตน   จึงยิงสวน   ๑ นัด  เป็นป้องกันฎีกาที่ ๑๗๓๒ /๒๕๐๙  คนตายชักมีดพกจากเอวมาถือไว้ แล้วเดินเข้ามาหาจำเลยระยะกระชั้นชิด  จำเลยยิงสวน ๑ ที   คนตายยังเดินต่อเข้ามาอีก  จึงยิงสวน อีก ๑ ทีล้มลงตาย  เป็นป้องกันสมควรแก่เหตุฎีกาที่  ๑๗๔๑/ ๒๕๐๙  คนตายจับมือถือแขนคู่หมั้นจำเลย   พอจำเลยมาเห็นคนตายก้มหยิบมีดพร้าที่วางใกล้ๆ  ยาว ๑๒ นิ้ว   ด้ามยาวอีก ๑๒ นิ้ว แสดงว่าคนตายจะทำร้ายทันทีเมื่อหยิบมีดได้   จำเลยใช้มีดฟันตนตายไป ๑ ทีป้องกันพอแก่เหตุฎีกาที่๑๖๙ / ๒๕๐๔ คนตายเมาสุราร้องท้าทายจำเลยให้มาต่อสู้กันจำเลยไม่สู้  คนตายถือมีดดาบปลายแหลมลุยน้ำข้ามคลอง จะเข้าไปฟันจำเลยถึงในบ้าน  จำเลยไม่หนีเพราะบ้านตัวเอง  และใช้ปืนยิงสวนไป ๑ นัดขณะที่คนตายอยู่ห่าง ๖ ศอกถึง ๒ วา   เป็นป้องกันพอสมควรแก่เหตุ
ฎีกานี้วางหลักว่า ผู้รับภัยไม่จำเป็นต้องหลบหนีภยันตราย  ก็อ้างป้องกันได้
๓. ผู้กระทำจำต้องกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนเองหรือผู้อื่น ให้พ้นภยันตรายนั้น ข้อนี้ตามที่อธิบายข้างต้นไปแล้ว
๔. ต้องเป็นการกระทำป้องกันสิทธิที่ไม่เกินขอบเขต
ไม่งั้นจะเป็นการป้องกันที่เกินสมควรกว่าเหตุ หรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน  ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๙ ไปซึ่งจะทำให้ยังมีความผิดอยู่
แบบไหนไม่เกินกว่าเหตุ  ยากมากครับ  ต้องแล้วแต่พฤติการณ์แห่งคดีที่เกิดขึ้น
ฎีกาที่ ๘๒๒ / ๒๕๑๐ คนตายเป็นฝ่ายก่อเหตุก่อน จะเข้ามาชกต่อยทำร้ายจำเลยจำเลยจึงเอาปืนยิงลงพื้นดินไป ๑ นัด เพื่อขู่ให้คนตายกลัว  แต่คนตายไม่หยุดกลับเข้ามากอดปล้ำใช้แขนรัดคอแล้วแย่งปืนจำเลย  จำเลยจึงยิงขณะชุลมุนนั้นไป ๑ นัด  ตาย  เป็นป้องกันที่พอสมควรแก่เหตุ  ไม่มีความผิดฎีกาที่ ๙๔๓ /๒๕๐๘  คนร้ายจูงกระบือออกจากใต้ถุนบ้านแล้ว มีปืนลูกซองมาด้วยจำเลยร้องถามแล้ว คนร้ายหันปืนมาทางจำเลย   จำเลยยิงสวนทันที ศาลฎีกาบอกว่า   คนร้ายหันปืนมาแล้ว  อาจยิงได้  และถ้าจำเลยไม่ยิง คนร้ายก็อาจเอากระบือไปได้  เป็นป้องกันที่พอสมควรแก่เหตุฎีกาที่ ๑๒๕๖ /๒๕๓๐   คนตายบุกรุกเข้าไปฉุดลูกสาวในบ้านจำเลยเมื่อมารดาเด็กเข้าห้ามถูกคนร้ายตบหน้า  แล้วจะฉุดพาลูกสาวออกบ้านจำเลยยิงไปทันที ๔ นัด  เป็นป้องกันที่พอสมควรแก่เหตุฎีกาที่  ๖๐๖ / ๒๕๑๐ คนตายเข้ามาชกจำเลย  จำเลยล้มลง  คนตายเงื้อมีดจะเข้าไปแทง  จำเลยยิงสวน  เป็นป้องกันพอสมควรแก่เหตุเทียบกับฎีกาที่ ๒๗๑๗/ ๒๕๒๘  คนตายยืนถือมีดอยู่ห่าง ๒ วา  ยังไม่อยู่ในลักษณะพร้อมที่จะฟันทำร้ายจำเลย  การที่จำเลยด่วนยิงคนตายไปก่อนเป็นป้องกันจริง  แต่เกินสมควรแก่เหตุฎีกาที่  ๔๕๔๔ / ๒๕๓๑  คนตายบุรุกเข้าไปในบ้านจำเลยยามวิกาลเมื่อจำเลยได้ยินเสียงผิดปกติ  คว้าปืนลงมาดู   คนตายยิงทันทีจำเลยยิงสวน  เป็นป้องกันพอสมควรแก่เหตุฎีกาที่  ๑๘๒ / ๒๕๓๒  ก.ถือไม้ไปที่บ้านจำเลย   ร้องท้าทายให้จำเลยมาสู้กันก.เดินเข้าหาจำเลย  จำเลยตกใจกลัวว่า ก. จะเข้ามาเอาไม้ตีทำร้าย  จึงวิ่งไปเอาปืนแล้วเล็งยิงไปที่ขา ก. รวม ๓ นัด  เมื่อรู้ว่ากระสุนถูกที่ขา ก. จำนวน ๑ นัดจำเลยก็ไม่ยิงซ้ำ  เป็นป้องกันที่พอสมควรแก่เหตุคราวนี้มาดูกรณีที่ถือว่าเกินสมควรกว่าเหตุฎีกาที่  ๒๙๘๓ / ๒๕๓๑   คนตายขับมอเตอร์ไซด์กลับบ้าน  พบจำเลยระหว่างทางจำเลยพูดทวงหนี้คนตาย  คนตายโกรธเคืองต่อว่าจำเลย  พร้อมเดินเข้าไปหาจำเลยด้วยมือเปล่าเพื่อจะทำร้าย   ระยะห่างประมาณ ๑ วา  จำเลยใช้ปืนยิง ๑ นัดเป็นป้องกันตัวจากการจะถูกทำร้าย  แต่เกินกว่าเหตุเพราะคนตายมือเปล่าฎีกาที่  ๖๔ / ๒๕๑๕  ก.และ ข.มือเปล่าไม่มีอาวุธ เข้ารุมชกต่อยจำเลยจำเลยใช้ปืนยิง  ในระยะติดพันกันนั้นรวม ๓-๔-๕ นัด  จน ก. ตาย เป็นป้องกันจริง   แต่เกินกว่าเหตุฎีกาที่ ๔๐๕ / ๒๔๙๐  จำเลยเฝ้าไร่พืชผัก   คนตายเข้าไปในไร่ เวลากลางวันเพื่อจะลักพืชผัก   จำเลยจึงใช้ปืนยิงคนตาย   เป็นป้องกันจริง    แต่เกินกว่าเหตุฎีกาที่  ๑๓๔๓ / ๒๔๙๕  ยิงคนร้ายขณะกำลังวิ่งหนีและพาเอาห่อของที่ลักไปด้วยโดยคนร้ายไม่ได้ทำอะไรแก่ตนเลย   เป็นป้องกัน  แต่เกินสมควรแก่เหตุมากฎีกาที่ ๒๙๔ /๒๕๐๐  ยิงคนร้ายที่จูงกระบือในเวลากลางคืน  ตรงนั้นมืดมากโดยคนร้ายไม่ได้แสดงกริยาต่อสู้  เป็นป้องกันที่เกินสมควรกว่าเหตุฎีกาที่  ๒๗๑๗ / ๒๕๒๘  คนตายเข้ามาลักลอบตัดข้าวโพดในไร่จำเลยในตอนกลางคืน  โดยคนร้ายเอามีดมาด้วย  แต่ขณะที่จำเลยมาเห็น  คนตายยืนถือมีดห่างประมาณ   ๒  วา ยังไม่อยู่ในลักษณะพร้อมที่จะฟันทำร้าย   จำเลยด่วนยิงจึงเป็นการป้องกันที่เกินกว่าเหตุฎีกาที่  ๑๘๙๕ / ๒๕๒๖  คนตายเมาสุรา  เดินถือปืนตรงเข้าไปหาบิดาจำเลยพูดทำนองจะฆ่าบิดา   จำเลยจึงสกัดกั้นยิงคนตายไปก่อน ๑ นัด แล้วกระโดดเข้าแย่งปืนคนตายมาได้   แต่กลับเอาปืนคนตายนั้นมายิงคนตายซ้ำอีก  ๓ นัดจึงเกินกว่าเหตุฎีกาที่ ๖๒๐ / ๒๕๓๒  คนตายถือมีดทำครัวบุกรุกเข้าไปในห้องจำเลยจะทำร้ายแต่การที่จำเลยใช้ปืนยิงคนตายถึง ๕ นัด เป็นการเกินกว่าเหตุครับเป็นเกร็ดความรู้ทางกฎหมายเล็กๆน้อยๆ ที่นำมาฝากกันครับ .
ใครที่ชอบย่องเข้าบ้านคนอื่นตอนดึกๆระวังให้ดี

ฎีกาที่ .๓๘๖๙ / ๒๕๔๖  คนตายปีนเข้าบ้านจำเลยตอนกลางคืนโดยไม่ทราบสาเหตุที่ปีนเข้ามา  เมื่อจำเลยตื่นมาเห็นย่อมทำให้สำคัญผิดว่าคนตายเป็นคนร้ายและในขณะนั้นจำเลยย่อมไม่อาจรู้ได้ว่าคนตายจะมีอาวุธหรือไม่  เพราะในห้องที่เกิดเหตุมืดมาก  และเป็นเวลากระทันหัน  หากจำเลยจะรอให้คนร้ายแสดงกริยาแล้วก็อาจจะถูกทำร้ายได้     การที่จำเลยใช้ปืนยิงไปเพียง ๑ นัด   คนตายร้องและล้มลง  และจำเลยมิได้ยิงซ้ำแต่อย่างใด   จึงเป็นการป้องกันที่พอสมควรแก่เหตุ

ส่วนพวกที่ชอบรุมกินโต๊ะ ( สุนัขหมู่ ) ก็ระวังให้ดี

ฎีกาที่  ๖๐๗๗/๒๕๔๖  ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืนดึกมากแล้ว  จำเลยคนเดียวเข้าไประงับเหตุไม่ให้กลุ่มคนตายเป็นชาย ๓ คน ดื่มสุราและร้องเพลงส่งเสียงดังภายในเขตวัด   แล้วเกิดโต้เถียงกัน   จำเลยถูกชาย ๓ คนรุมทำร้ายอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีโอกาสตอบโต้คืน  และไม่อาจรู้ได้ว้าพวก ๓ คนมีอาวุธใดมาด้วยหรือไม่จำเลยชักปืนที่พกมาด้วยยิงไปเพียง ๑ นัด ถูกคนตาย   ถือว่าป้องกันพอสมควรแก่เหตุไม่มีความผิดฎีกาที่ ๑๓๙๖ / ๒๕๑๔  ก.ใช้จอบตีทำร้ายจำเลยโดยจำเลยไม่ได้เป็นคนก่อเหตุก่อนถูกที่เหนือข้อศอกซึ่งยกขึ้นรับไว้ได้  จากนั้น ก.ยังใช้จอบฟันซ้ำอีก ๒ ที ถูกที่เหนือเข่าจนจำเลยล้มลง    แล้วยังมีพวกของ ก. อีก ๒ คนถือขวานและมีดวิ่งเข้ามาด้วยกริยาแสดงให้เห็นว่าจะมาช่วย ก. เล่นงานจำเลยให้อยู่  จำเลยจึงใช้ปืนลูกซองสั้นยิงไป ๑ นัดในทันทีนั้นเอง   เป็นการป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุ  ไม่มีความผิด
พวกที่ชอบแกล้ง  ชอบขู่คนอื่น  ชอบหยอกล้อคนอื่นก็ต้องระวัง
ฎีกาที่  ๕๗๕๘ / ๒๕๓๗   คนตายกับพวกถือสิ่งของคล้ายอาวุธปืน ( ไม่ใช่ปืน )เดินเข้ามาหาจำเลยในเขตนากุ้งของจำเลยในเวลาค่ำคืน   จำเลยร้องห้ามให้วางสิ่งของดังกล่าวแล้ว   แต่คนตายกับพวกกลับจู่โจมเข้ามาใกล้ประมาณ๒ - ๓ เมตร   ย่อมมีเหตุให้จำเลยอยู่ในภาวะเข้าใจได้ว่าคนตายกับพวกจะเข้ามาทำร้ายและถือได้ว่าเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง   การที่จำเลยใช้ปืนยิงไปทางคนตายกับพวก   จึงเป็นการป้องกันที่พอสมควรแก่เหตุแล้ว  ไม่มีความผิดระวังเรื่อง  หากภัยอันตรายมันผ่านพ้นไปแล้วด้วยฎีกาที่ ๔๕๔ / ๒๕๓๗  เริ่มแรกคนตายยกปืนเล็งมาทางจำเลยจำเลยไม่มีปืน  จึงเข้าแย่งปืนกับคนตาย  ปืนลั่น ๑ นัดแล้วปืนหลุดจากมือคนตาย  การที่จำเลยยังไปเอามีดอีโต้มาฟันคนตายในขณะนั้นอีก  ไม่เป็นการป้องกันเลยเพราะภยันตรายที่จำเลยจะถูกปืนยิงมันผ่านพ้นไปแล้ว  จำเลยไม่มีภัยที่จะต้องป้องกันอีก    การที่จำเลยยังใช้มีดฟันคนตายอีก  เป็นความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา   แต่เป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๒  ศาลใช้ดุลพินิจลงโทษมากน้อยเพียงใดก็ได้ฎีกาที่ ๑๐๔๘ - ๑๐๔๙ / ๒๕๑๔  จำเลยเป็นตำรวจออกตรวจท้องที่พบผู้ตายกับพวกหลายคนถือไม้และท่อนเหล็ก  จับกลุ่มกันอยู่ในยามวิกาล  จึงเข้าไปสอบถามผู้ตายกับพวกกับกลุ้มรุมทำร้ายตัวจำเลยจนศรีษะแตกล้มลง   จำเลยชักปืนออกมาผู้ตายกับพวกเห็นดังนั้นก็พากันวิ่งหนี   จำเลยจึงยิงไปทางพวกผู้ตายกระสุนปืนถูกผู้ตายทางด้านหลังถึงแก่ความตายการกระทำของจำเลยไม่เป็นป้องกัน เพราะภยันตรายที่เกิดแก่จำเลยได้ผ่านพ้นไปแล้ว    แต่เป็นการกระทำผิดโดยบันดาลโทสะตาม ปอ.มาตรา ๗๒ฎีกาที่  ๑๐๑๑ / ๒๕๓๓  ก. เข้าไปชกต่อยจำเลย ๒ ที แล้วก็ออกมา  ไม่ปรากฎว่าจะมีการจะไปทำร้ายต่ออีก   ภยันตรายที่จะป้องกันจึงผ่านพ้นไปแล้ว  การที่จำเลยเอามีดไปแทง ก. หลังถูกชกต่อยเลิกแยกกันไปแล้ว  จึงไม่เป็นป้องกันตาม มาตรา ๖๘ แต่เป็นการกระทำผิดโดยบันดาลโทสะ  ตาม มาตรา ๗๒ 
หากมีคนมาตะโกนร้องท้าทายเรา  ต้องระวังใจตนเองครับ
ฎีกาที่ ๓๐๘๙ / ๒๕๔๑  เมื่อ ก. ไปร้องท้าทายจำเลยว่า  ( มึงออกมาต่อยกับกูตัวต่อตัวถ้าแน่จริง )  แม้จำเลยไม่มีหน้าที่จะต้องหลบหนีก็ตาม    แต่หากจำเลยไม่สมัครใจที่จะวิวาทหรือต่อสู้กับ ก. แล้ว  จำเลยก็ชอบที่จะไม่ตอบโต้หรือออกไปพบ  ก. ก็ได้ / แต่จำเลยกลับออกไปพบ ก. โดยพกปืนติดตัวไปด้วยแสดงว่าจำเลยสมัครใจเข้าวิวาทและต่อสู้กับ ก. และเข้าสู่ภัยโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจ  แม้ ก. จะชักมีดออกมาจ้วงแทงจำเลยก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะวิวาทกัน    จำเลยใช้ปืนยิงหรือใช้ไม้ตีตอบโต้ก็ไม่อาจอ้างป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมายได้
เปรียบเทียบ  กับ ๓ เรื่องข้างล่างนี้
ฎีกาที่ ๑๐๖ / ๒๕๐๔  ผู้ตายเมาสุราร้องท้าทายจำเลยให้มาสู้กันแต่จำเลยไม่สู้ ผู้ตายก็ถือดาบปลายแหลมลุยน้ำข้ามคลองจะเข้าไปฟันจำเลยถึงในบ้าน  แม้จำเลยจะเห็นผู้ตายอยู่ก่อนและอาจหลบหนีไปได้   แต่ก็ไม่มีความจำเป็นที่ผู้มีสิทธิครอบครองเคหสถานของตนจะต้องหนีผู้กระทำผิดกฎหมาย  ดังนั้นการที่จำเลยใช้ปืนยิงผู้ตาย๑ นัดขณะผู้ตายอยู่ห่าจากโรงจำเลย  ๖ ศอกถึง ๒ วานั้น  ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อป้องกันชีวิตพอสมควรแก่เหตุตาม มาตรา ๖๘ แล้ว  จำเลยจึงไม่มีความผิดฎีกาที่  ๑๘๒ / ๒๕๓๒  ก. ถือไม้เป็นอาวุธไปที่บ้านจำเลยและร้องท้าทายให้จำเลยออกมาตีกันจำเลยไม่ออกไปตามคำท้า  ก.จึงเดินเข้ามาหาจำเลย   จำเลยตกใจกลัวว่า ก. จะเข้ามาทำร้าย  จึงวิ่งไปเอาปืนสั้นของสามีที่เก็บไว้ที่หัวนอนมาแล้วยิงไปที่ขา ก. รวม ๓ นัด  เมื่อกระสุนถูกขา ก.๑ นัด จำเลยไม่ยิงต่อ  การยิงของจำเลยดังกล่าวเพียงเพื่อยับยั้งไม่ให้ ก. เข้ามาทำร้ายจำเลยในบ้านเท่านั้น   เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายและพอสมควรแก่เหตุ  ไม่มีความผิด ฎีกาที่ ๑๑๓๖ /๒๕๒๙   ก. กับพวกกำลังดื่มสุราอยู่ในซอย  เห็นจำเลยเดินมาหาว่าจำเลยถอดเสื้ออวดรอยสัก   ได้เรียกจำเลยเข้าไปถามและช่วยกันรุมทำร้าย  จำเลยวิ่งหนีมาถึง ๓ แยก หนีต่อไปไม่ทัน  จึงได้หันกลับไปแล้วยกปืนขึ้นมาจ้องขู่  ก. ว่าอย่าเข้ามาถ้าเข้ามาจะยิง  แต่ ก. ก็ไม่เชื่อ  ยังทำท่าจะวิ่งเข้ามาทำร้ายจำเลยอีก   จำเลยจึงใช้ปืนยิง ก.๑ นัด  เป็นการป้องกันตัวโดยสมควรแก่เหตุ  ไม่มีความผิด ครับ  เริ่มเห็นข้อแตกต่างกันแล้ว  ใช่ไหมครับดังนั้นจึงต้องระวังใจตนเอง ควบคุมให้ดีครับ  ..เมื่อเห็นคนอื่นกำลังตกอยู่ในอันตรายอย่านิ่งดูดายนะครับความจริงตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา ๖๘  เรื่องป้องกันก็สามารถป้องกันสิทธิของคนอื่นที่กำลังจะได้รับภยันตรายได้ด้วย  ไม่เฉพาะแต่เรื่องของตัวเองแต่อย่างใด
หากเราพบคนอื่นกำลังตกอยู่ในภยันตราย  ถือได้ว่าเราพบความผิดซึ่งหน้า
เกิดขึ้นแล้ว   ราษฎรอย่างเราก็มีสิทธิเข้าช่วยเหลือโดยอ้างสิทธิผู้อื่นตาม มาตรา ๖๘
นี้ก็ได้   หรือจะเข้าไปช่วยโดยอ้างว่าพบความผิดซึ่งหน้าแล้วเข้าจับกุมตาม
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๗๙  มาตรา ๘๐  และมาตรา ๘๓
ก็ได้

มีฎีกา ที่ ๒๓๕๓ / ๒๕๓๐  วินิจฉัยว่า  กรณีที่มิใช่ความผิดซึ่งหน้า  ราษฎรไม่มีอำนาจ
ตามกฎหมายที่จะจับกุมผู้กระทำความผิดได้  ...  .......................... ฯ

        เมื่อแปลความกลับก็จะได้ความว่า   หากเป็นความผิดซึ่งหน้าแล้ว
ราษฎรเข้าจับกุมได้  ก็ตาม มาตรา ๗๙ / ๘๐ / ๘๓  นี่แหละ

    และการเข้าไปจับกุมดังกล่าวก็ไม่ต้องแจ้งข้อหาให้คนร้ายทราบก่อนด้วยก็ได้
( ตามฎีกาที่ ๕๑๒/ ๒๔๘๐ และที่ ๓๑๙ - ๓๒๐ / ๒๕๒๑ )

  และเมื่อเข้าไปจะจับกุมคนร้ายแล้ว  หากคนร้ายขัดขืน เช่นว่า ชักปืนจะยิงสู้
เราก็ยิงโต้ตอบคนร้ายได้โดยอ้างป้องกันตาม มาตรา ๖๘ ได้อีก  เพราะตาม
มาตรา  ๘๓ วรรคท้าย  ให้อำนาจราษฎรที่เข้าไปจับคนร้ายที่ทำผิดซึ่งหน้า
สามารถใช้วิธีตอบโต้คนร้ายได้ตามสัดส่วนของภัยนั้นๆ

ลองๆดูคำพิพากษาฎีกาที่   ๘๕๓๔ / ๒๕๔๔  กลุ่มวัยรุ่นกำลังรุมทำร้าย ถ.
จำเลยไปเจอ  จึงได้ใช้อาวุธปืนที่มียิงขึ้นฟ้าเพื่อขู่มิให้กลุ่มวัยรุ่นกลุ้มรุมทำร้าย ถ.
เมื่อจำเลยยิงขึ้นฟ้านัดที่ ๓ แล้ว   ได้มีกลุ่มวัยรุ่นเข้ามาทุบที่ด้านหลังของจำเลย
จนเป็นเหตุให้จำเลยล้มลงและกระสุนจากปืนของจำเลยได้ลั่นไปถูกคนตาย
เป็นการป้องกันที่พอสมควรแก่เหตุ  จำเลยไม่มีความผิด

         ฝากไว้ว่า  อย่านิ่งดูดายนะครับ  เพราะความจริงมีกฎหมายเขาคุ้มครอง
พลเมืองดีอย่างเราๆอยู่ครับ   ไม่ต้องไปกังวลเรื่องกฎหมายครับ .... 
ต้องมีข้อเท็จจริงอื่นประกอบด้วยครับ  ไม่งั้นก็ตอบยากเหมือนกัน
โจรเข้าบ้าน ๕ คน เข้าบ้านเวลากลางวันหรือกลางคืน
พฤติกรรม  อากัปกริยาของโจรเป็นอย่างไรบ้าง

สมมุติว่ามาตอนกลางคืนดึกๆ  มีปืนครบมือ  เจ้าของบ้านอาจอ้างเหตุที่ต้องยิงแบบคำพิพากษา
ศาลฎีกาที่  ๓๘๖๙ / ๒๕๔๖       ข้างต้นได้ครับ

แต่หากมาแล้ว  พอเจ้าของบ้านมาเห็น   คนร้ายทุกคนที่ว่ามีปืนครบมือ
ทุกคนต่างหันหลังวิ่งหนีเจ้าของบ้านกันหมด   อย่างนี้ถ้าเจ้าของบ้านยังยิงอีก
ก็อาจตามแนวฎีกาที่ลงเอาไว้ข้างต้นได้ครับ   ว่าภยันตรายที่จะเกิดกับเจ้าของบ้าน
มันผ่านพ้นไปแล้ว   เพราะคนร้ายหนีหมดแล้ว     เป็นป้องกัน  แต่เกินกว่าเหตุได้ครับ

ยิ่งถ้าเข้ามาตอนกลางวัน  ก็ยิ่งเห็นอากัปกริยาของคนร้ายได้ชัดเจนขึ้น
หากคนร้ายเห็นเจ้าของบ้านแล้วหันปืนมา  จ้องปืนมา   อย่างนี้ยิงได้เลย

แต่ถ้าเห็นแล้ววิ่งหนีเจ้าของบ้าน   หากยังยิงก็อาจเกินกว่าเหตุตามหลักเดิมครับ

เมื่อเจอคนร้ายกำลังกระทำความผิดซึ่งหน้า   ราษฎรอย่างเราๆก็อาศัย
อำนาจตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา ๗๙  มาตรา ๘๐ และ
มาตรา ๘๓   เข้าไปจับกุมได้เลยครับ

     โดยไม่ถือเป็นความผิดอะไร   เมื่อถูกคนร้ายเข้าขัดขวางการจับกุม
ก็อาศัยอำนาจตามความ  ใน มาตรา ๘๓ วรรคท้าย  ที่บัญัติว่า
(  ถ้าบุคคลซึ่งจะถูกจับ   ขัดขวาง  หรือจะขัดขวางการจับกุม
หรือหลบหนี  หรือพยายามจะหลบหนี  ผู้ทำการจับมีอำนาจใช้วิธี
หรือความป้องกันทั้งหลายเท่าที่เหมาะแก่พฤติการณ์แห่งเรื่องในการจับผู้นั้น )

อาศัยอำนาจตามข้อความวรรคท้ายของมาตรานี้  มาป้องกัน / ตอบโต้
การต่อสู้หรือขัดขวางการจับกุม  ของคนร้ายได้เลยครับ
ดังนั้น  ก็กลับมาสู่หลักเดิม  คือเรื่องการป้องกันตัวตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๖๘  ได้อีก ว่า คนร้ายทำท่าจะยิงเรา   เราก็ยิงสวนป้องกันตัวได้
ตามหลักในแนวคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้นครับ  ถือเป็นภยันตราย
ที่ใกล้จะถึงที่จะเกิดกับผู้จะเข้าจับกุมอย่างเรา   ที่เข้าจับกุมโดยอาศัยกฎหมาย
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา ๘๓ นั่นเอง

เมื่อคนร้ายเกิดตาย   เราก็อ้างได้ว่ามีสิทธิเข้าจับได้ / เข้าช่วยเหลือได้
และอ้างสิทธิป้องกันตัวได้ด้วย ไงครับ
ผลคือไม่มีความผิดฐานฆ่าคนตาย  / พยายามฆ่า / ทำร้ายร่างกาย

ส่วนข้อหาพกพาปืนโดยไม่มีใบพก  ก็จะตกไป เพราะถือว่าในกรณีนี้
มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามควรแก่พฤติการณ์  ที่จะต้องใช้ปืนแล้วละครับ
เพราะหากเราไม่มีปืน  เราก็คงไม่เข้าช่วยเหลือ / เข้าจับกุม
และอาจเกิดผลร้ายกับเหยื่อของคนร้ายได้ครับ  .. .. ..
เขาคงไม่รอดครับ  ..

ส่วนที่ว่าจะยิงคนร้ายก่อนได้ไหม  ผมตอบไม่ได้
ต้องดูพฤติการณ์ เป็นเรื่องๆไป  ยกตัวอย่างเช่น
ไปเจอเหตุการณ์คนร้ายกำลังเอาปืนจี้คนขายในร้านทองอยู่พอดี
คนร้าย ๒ -๓ คน ล้วนมีปืนครบมือทุกคน  คลุมหน้าตา
กรณีอย่างนี้  เชื่อได้เลยว่า หากเราเรียกคนร้ายหันมาเจอเรา
ต้องยิงเราแน่ ไม่ปล่อยไว้   และพฤติการณ์ที่คนร้ายกำลังเอาปืนจ่อ
ไปที่เจ้าของร้านทอง   ถือเป็นภยันตรายอันละเมิดต่อกฎหมาย
ที่ใกล้จะถึงที่เกิดกับเจ้าของร้านทองแล้วละครับ   เรายิงได้ทันทีเลย
เป็นป้องกันสิทธิของเจ้าของร้านทองครับตาม มาตรา ๖๘ ได้ครับ

อีกตัวอย่างหนึ่ง  สมมุติว่าเราไปเจอคนร้ายกำลังยิงคนอยู่  ถือว่า
กรณีอย่างนี้เกิดภยันตรายอันละเมิดต่อกฎหมายที่ใกล้จะถึง หรือถึงแล้ว
แก่เหยื่อเคราะห์ร้ายคนนั้นแล้วละครับ     เจอแบบนี้เรายิงโจรได้เลย
เป็นการป้องกันสิทธิของเหยื่อรายนั้นได้ครับ  ตามมาตรา ๖๘
เพราะถ้าเราไม่ยิง   คนร้ายมันก็ต้องยิงเหยื่อตายครับ
ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันกับกรณีที่มีคนเอาปืนมาจ้องเล็งกำลัง
จะยิงเรา   เราก็ยิงสวนตอบโต้ไปได้  ถ้าไม่ยิงเราก็ตาย
ส่วนอันนั้น  หากเราไม่ยิง  เหยื่อเคราะห์ร้ายก็ต้องตาย
หลักป้องกันเดียวกันครับ  ไม่ว่าป้องกันสิทธิของตนเองหรือ
สิทธิของผู้อื่น  ..  .

เป็นการอธิบายโดยใช้หลักกฎหมายและแนวคำพิพากษาศาลฎีกาครับ
ไม่ถูกใจ ไม่เห็นด้วยยังไง  ก็ยินดีน้อมรับฟังครับ

เพราะยังไง  เมื่อมีคดีเกิดขึ้น  ก็ต้องให้ศาลเป็นผู้วินิจฉัยครับ
ซึ่งศาลก็ต้องใช้หลักการหรือหลักกฎหมายแบบเดียวกันกับที่อธิบายมานี่แหละครับ
รวมทั้งหลักอ้างอิงตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาปรับเทียบเคียงไปด้วยครับ .. .. .

เรื่องยิงคนร้ายหากเป็นป้องกันที่พอสมควรแก่เหตุ
ตาม มาตรา ๖๘ แล้ว ก็ไม่ต้องกลัวครับ  แม้ลูกกระสุนจะพลาดไปโดนใคร
ก็ตาม  เจตนาป้องกันนี้มันโอนไปด้วยครับ  เรื่องนี้ก็เคยมีคำพิพากษา
ศาลฎีกาตัดสินไว้เป็นบรรทัดฐานแล้ว  ตามนี้ครับ

ฎีกาที่  ๒๐๕ / ๒๕๑๖    ผู้ตาย ผู้เสียหาย และจำเลยร่วมดื่มสุราด้วยกัน
จนเมา  แล้วจำเลยกับผู้ตายทะเลาะกัน   ผู้เสียหายจึงชวนจำเลยกลับบ้าน
ผู้ตายตามมาต่อยและเตะจำเลยจนล้ม  ลุกขึ้นมาก็ยังถูกเตะอีก    เมื่อผู้ตาย
เตะอีก  จำเลยก็ใช้มีดปลายแหลมที่ติดตัวไป  แทงสวนผู้ตายไป ๒ - ๓ ครั้ง
ถูกผู้ตาย   ระหว่างนั้นผู้เสียหายเข้าขวางเพื่อห้ามจึงถูกมีดได้รับบาดเจ็บ
ส่วนผู้ตายถึงแก่ความตาย    การกระทำของจำเลยต่อผู้ตายเป็นการกระทำโดย
ป้องกันพอสมควรแก่เหตุ   แม้จะพลาดไปถูกผู้เสียหายเข้า ซึ่งตามประมวล
กฎหมายอาญา  มาตรา ๖๐   จะถือว่าจำเลยมีเจตนาแทงผู้เสียหายก็ดี   แต่การกระทำ
ของจำเลยก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากจำเลยแทงผู้ตาย  เพื่อป้องกันสิทธิพอสมควรแก่เหตุ
อันไม่เป็นความผิด   จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานทำร้ายผู้เสียหายด้วย

  ฎีกาที่  ๘๕๓๔ / ๒๕๔๔  จำเลยใช้ปืนยิงขึ้นฟ้า  เพื่อขู่มิให้กลุ่มวัยรุ่น
กลุ้มรุมทำร้าย ถ. เมื่อจำเลยยิงปืนขึ้นฟ้านัดที่ ๓ แล้ว  ได้มีกลุ่มวัยรุ่น
เข้ามาทุบที่ด้านหลังของจำเลย   จนเป็นเหตุให้จำเลยล้มลงและกระสุน
จากปืนที่จำเลยถืออยู่ได้ลั่นขึ้น ๑ นัด  ถูกผู้เสียหายซึ่งขับ
รถจักรยานยนต์ผ่านมาได้รับอันตรายแก่กายและถูกผู้ตายซึ่งนั่งซ้อนท้าย
ถึงแก่ความตายพฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าว
เป็นเหตุการณืที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน  จึงย่อมถือได้ว่าเป็น
การกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนและของผู้อื่น  ให้พ้นภยันตราย
ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง
ทั้งเป็นกรณีที่จำเลยกระทำพอสมควรแก่เหตุ  แม้การกระทำของจำเลย
ก่อให้เกิดผลร้ายแก่ผู้เสียหายและผู้ตายโดยพลาดตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา  ๖๐  จำเลยก็ไม่มีความผิด  เพราะการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกัน
โดยชอบด้วยกฎหมายตาม  มาตรา ๖๘ 

 
ปัญหาเรื่องว่า ราษฎรธรรมดา  มีสิทธิจับคนร้ายที่ทำผิดซึ่งหน้า
ได้หรือไม่นั้น    มีคำพิพากษาศาลฎีกา ตัดสินรองรับไว้แล้วครับ   คือ

ฎีกาที่ ๑๓๔๘ / ๒๔๙๖  ราษฎรมีสิทธิจับผู้ที่ยิงคนบาดเจ็บต่อหน้าตนได้
เมื่อผู้ถูกจับชักมีดจะทำร้าย    ผู้จับ ( ราษฎร )  เข้าปล้ำต่อสู้แย่งมีดได้แล้ว
แทงผู้ถูกจับ ๑ ที ผู้ถูกจับตาย   เป็นการป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุ ..

ฎีกาที่ ๕๗๕ / ๒๔๘๗  คนตายเป็นคนร้ายที่ลักม้าผู้อื่นไป  จำเลยตามไปพบ
จะเข้าจับกุม  คนตายขัดขืนเอามีดแทง  จำเลยจึงใช้มีดของตนฟันคนร้าย
แล้วจับไปส่งผู้ใหญ่บ้าน   แต่ต่อมาเสียชีวิตลง  เป็นป้องกันพอสมควรแก่เหตุ
ไม่มีความผิด
บจก.สยามเอวีเอส
63 Moo 2 แพรกษาใหม่ เมือง สมุทรปราการ
นำเข้า-จำหน่าย เครื่องจักร cnc มือสองญี่ปุ่น
ติดต่อ คุณ ธนเดช  084-387-2401
EMAIL kiattub@gmail.com
คลิกลิ้งแอดไลน์ได้เลย Line id : boysiamavs
http://line.me/ti/p/~boysiamavs

    

admin

บจก.สยามเอวีเอส
63 Moo 2 แพรกษาใหม่ เมือง สมุทรปราการ
นำเข้า-จำหน่าย เครื่องจักร cnc มือสองญี่ปุ่น
ติดต่อ คุณ ธนเดช  084-387-2401
EMAIL kiattub@gmail.com
คลิกลิ้งแอดไลน์ได้เลย Line id : boysiamavs
http://line.me/ti/p/~boysiamavs